hrt_dancing

……..ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นภาวะที่หัวใจเต้นไม่เป็นไปตามจังหวะธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วหรือช้าเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสไฟฟ้าในหัวใจเปลี่ยนไป อาจส่งสัญญาณเร็วเกินไป มากเกินไป หรือในบางครั้งเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีผลให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวซึ่งเป็นอันตรายได้

โดยธรรมชาติของคนเรา จังหวะการเต้นของหัวใจจะถูกกำหนดโดยสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งมาจากเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจห้องบนขวา และส่งต่อไปยังห้องหัวใจที่เหลือ และไปยังหัวใจห้องล่างเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งกลไกการเต้นของหัวใจนี้จะถูกควบคุมโดยกระแสไฟฟ้าหัวใจที่มีแบบแผนและมีความสม่ำเสมอตามแต่กิจกรรมของร่างกายที่มากน้อยต่างกันไป โดยทั่วไปในขณะพักหัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ระหว่าง 50-100 ครั้งต่อนาที

ในกรณีที่เกิดความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจเต้นเร็วเกินไป เต้นช้าเกินไป มีจังหวะหัวใจที่ขาดหายไปหรือแทรกมาก่อนจังหวะปกติ เหล่านี้ล้วนจัดเป็นหัวใจเต้นผิดปกติทั้งสิ้น โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ บางชนิดอาจไม่เป็นอันตราย แต่บางชนิดหากไม่ได้รับการตรวจอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตก็ได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่นบริเวณหน้าอก หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอก เป็นลมหมดสติ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที แต่สิ่งที่มักเป็นปัญหาคือ ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายมักไม่มีอาการปรากฏ ทำให้ไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ จะทราบก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพหรือป่วยด้วยโรคอื่นแล้วมาพบแพทย์

ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) แบ่งได้ตามจุดกำเนิดในหัวใจได้ 2 ชนิด คือ

  • Supraventricular Tachycardia (SVT) เกิดในหัวใจห้องบน
  • Ventricular Tachycardia (VT) เกิดในหัวใจห้องล่าง

Supraventricular Tachycardia (SVT)

Reentry SVT เป็น tachycardia แบบสม่ำเสมอที่เกิดจากวงจรผิดปกติทำให้คลื่น depolarization วิ่งวนเป็นวงกลมซ้ำแล้วซ้ำอีก (reentry) บางครั้งเป็นๆหยุดๆ จึงมีชื่อเก่าเรียกกันว่า paroxysmal supraventricular tachycardia (PSVT) อัตราเร็วของการเต้นจะสูงเกินอัตราของ sinus tachycardia ในขณะพัก (เกิน120 ครั้งต่อนาที) โดยอาจมีหรือไม่มี P wave ให้เห็นก็ได้ จะถือว่า reentry SVT เป็น tachycardia ที่มีจุดกำเนิดอยู่ระดับ supraventricular ถ้ามี QRS complex แคบ (<120 milliseconds หรือแคบกว่า 0.12 วินาที) หรือมี QRS complex กว้างโดยรู้อยู่ก่อนแล้วว่ามี bundle branch aberrancy ร่วมอยู่ด้วย ภาวะ reentry SVT นี้หมายความรวมถึง AV nodal reentrant tachycardia หรือ AV reentry tachycardia ด้วย

Ventricular Tachycardia (VT)

เกิดในหัวใจห้องล่างซึ่งเป็นห้องใหญ่ที่บีบส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อเกิด VT ทำให้หัวใจขาดประสิทธิภาพ และรุนแรงกว่า SVT

อาการของ Ventricular Tachycardia

อาการของ VT รุนแรงและอาจทำให้เสียชีวิต ขณะที่ SVT ไม่ทำให้ถึงแก่ชีวิตแต่ก่อปัญหาทางอารมณ์และร่างกายเมื่อเป็นบ่อยๆ และเป็นนาน ผู้ป่วย Tachycardia อาจไม่มีอาการหรือมีอาการเหล่านี้ได้ เช่น

เจ็บหน้าอก

อาการใจสั่น (Palpitation)

เป็นลมหมดสติ (Syncope)

หัวใจหยุดทำงาน (Cardiac arrest)

สาเหตุของการเกิด VT

VT อาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ เช่น เกิดก่อนหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกล้ามเนื้อห้วใจ โรคลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดความผิดปกติทางกรรมพันธ์ โรคเลือด หรือจากยาบางชนิด SVT มักเกิดจากความวิตกกังวล อ่อนล้า ดื่มกาแฟ เหล้า สูบบุหรี่มากไป มักเป็นร่วมกับหัวใจวาย โรคลิ้นหัวใจ สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุได้โดยการตรวจสรีระไฟฟ้าหัวใจ

การรักษา VT

สามารถรักษาได้โดยการใช้สายสวนชนิดพิเศษจี้จุดกำเนิดความผิดปกติในหัวใจด้วยพลังงานวิทยุ (Catheter ablation) โดยไม่ต้องผ่าตัด

ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจากภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachycardia) มักได้รับการฝังเครื่องกระตุกหัวใจ (Implantable Cardioverter defibrillator, ICD) เพื่อควบคุมภาวะหัวใจเต้นเร็วมากให้กลับคืนสู่ปกติและป้องกันการตายกะทันหันด้วยโรคหัวใจ (Sudden Cardiac Death) โดยแพทย์อาจให้ยาร่วมกับการฝังเครื่องกระตุกหัวใจ เพื่อรักษาภาวะ  Tachycardia

( โรงพยาบาลกรุงเทพ http://www.bangkokhospital.com/pacific-rim/index_th.php?Conditions-Treated/Ventricular-Tachycardia )

(โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์https://www.bumrungrad.com/healthspot/february-2014/arrhythmia-1)